ข้อมูลสถานศึกษา

ประวัติวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช

วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช มีประวัติความเป็นมาสืบเนื่อง มาจากการที่ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ (ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช) และเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้ง “โรงเรียนช่างถม” ขึ้นที่วัดท่าโพธิ์ฯ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2456 เป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งแรกของภาคใต้ เพื่อสอนวิชาการ “ช่างถม” ซึ่งเป็นวิชาหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาโรงเรียนนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเรื่อยมา ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ย้ายวัดท่าโพธิ์ฯ ไปตั้งอยู่ ณ วัดวังตะวันออก ถนนราชดำเนิน และได้เปิดสอนวิชาช่างไม้ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด ๔๓ คน มีครู ๓ คน คือ ครูสัมฤทธิ์ วรรณวณิช ครูศิริ จิตโอภาส และครูแสง คัมภีร์

   การเรียนการสอนหนักไปในทางปฏิบัติ กิจการของแผนกวิชาช่างไม้ได้เจริญขึ้นตามลำดับ จนถึงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ แผนกวิชาช่างไม้ได้แยกออกจากโรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณนครศรีธรรมราช (โรงเรียนช่างถมเดิม) เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งต่างหากเรียกว่าโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้หรือโรงเรียนช่างไม้ มีฐานะเป็นโรงเรียนรัฐบาล แต่ยังคงอาศัยสถานที่ของโรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนั้นยังคงตั้งอยู่หน้าวัดวังตะวันออกเป็นสถานที่สอนปีแรกรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เข้าศึกษาต่อ ๓ ปี มีครู ๔ คน ครูสัมฤทธิ์ วรรณวณิช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่คนแรก เมื่อทางราชการได้ประกาศให้แผนกช่างไม้เป็นโรงเรียนช่างไม้ดังกล่าวแล้ว ในปีนั้นก็ได้ก่อสร้างโรงเรียนช่างไม้ในสถานที่ซึ่งเป็นที่ของวัดร้าง ๒ วัด คือวัดชุมแสง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือและวัดประตูโกบ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ (คือบริเวณที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราชปัจจุบัน) มีเนื้อที่ประมาณ ๓๘ ไร่ ๑ งาน การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในปลายปีนั้น ประกอบด้วยอาคารโรงฝึกงาน ๓ หลัง บ้านพักครู ๔ หลัง บ้านพักภารโรง ๑ หลัง ส้วม ๑ หลัง และสนามฟุตบอล ๑ สนาม เมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้ย้ายโรงเรียนช่างไม้จากโรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณนครศรีธรรมราช มาอยู่ในบริเวณที่สร้างใหม่เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างไม้นครศรีธรรมราช” มีครูสัมฤทธิ์ วรรณวณิช เป็นครูใหญ่เช่นเดิม ในระยะนี้กิจการของโรงเรียนได้ก้าวหน้าไปมาก มีธงประจำโรงเรียนเป็นสีเหลี่ยมผืนผ้า ๒ สี คือสีน้ำเงิน – เหลือง และมีพระพักตร์พระวิษณุอยู่กลาง การเรียนเน้นหนักทางภาคปฏิบัติ นักเรียนที่จบไปมีฝีมือและความชำนาญเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป จึงมีผู้นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ มา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ (ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช) โรงเรียนจึงต้องหยุดเรียนโดยไม่มีกำหนดและหลักจากไทยกับญี่ปุ่นได้ประกาศยุติสงครามกันแล้ว ญี่ปุ่นได้ขอสถานที่ของโรงเรียนช่างไม้นครศรีธรรมราชเป็นที่ตั้งของกองทัพทหารญี่ปุ่น โรงเรียนจึงกลายเป็นค่ายทหารญี่ปุ่นไปโดยปริยายระยะหนึ่ง เนื่องจากภัยสงครามในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ ทางโรงเรียนรับนักเรียนได้น้อย จึงหาวิธีจูงใจนักเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เลี้ยงอาหารกลางวันแก่นักเรียน รับงานให้นักเรียนฝึกภายในโรงเรียน และรับก่อสร้างภายนอกในต่างอำเภอ เพื่อให้นักเรียนได้ออกไปแสดงฝีมือ ส่วนทางราชการก็ได้ส่งเสริมโดยการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนประจำ และในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางจังหวัดก็ได้มีคำสั่งให้เปิดการสอนชั้นประถมปีที่ ๔ เพิ่มขึ้นด้วย โดยการโอนนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนเทศบาลต่าง ๆ ย้ายเข้ามาเรียนในโรงเรียนช่างไม้ เพื่อมุ่งให้นักเรียนเหล่านี้ได้มีประสบการณ์และสนใจต่อวิชาชีพ และได้มีการจัดให้นักเรียนได้ไปศึกษาต่อในชั้นอาชีวศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวายกรุงเทพฯ จึงทำให้ประชาชนสนใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนเพิ่มขึ้น

   วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการช่างนครศรีธรรมราช” ตามคำสั่งกรมอาชีวศึกษา ที่ ๑๙๐๓๘/๒๔๙๑ และได้ย้ายแผนกช่างตัดผมจากโรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณนครศรีธรรมราช มาเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนการช่างฯ ด้วย ต่อมาทางโรงเรียนได้ขยายหลักสูตรถึงชั้นประโยคมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลาย รับนักเรียนที่สำเร็จมัธยมอาชีวศึกษาชั้นต้นเข้าศึกษาต่ออีก ๓ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ครูสัมฤทธิ์ วรรณวณิช ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนช่างไม้สตูล ทางราชการได้แต่งตั้งนายเสริมศักดิ์ สิริผล ครูใหญ่โรงเรียนช่างไม้ตรังมาดำรงตำแหน่งแทนและต่อมานายเสริมศักดิ์ สิริผล ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งแทน ให้ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนการช่างสุราษฎร์ธานี โดยแต่งตั้งให้นายจงรักษ์ มณีสุข

   ครูในโรงเรียนการช่างนครศรีธรรมราช รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ ในระยะนั้นได้มีการเปลี่ยนธงประจำโรงเรียนมาใช้เป็นธงพื้นสีน้ำเงินมีพระวิษณุสีขาวตรงกลาง (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน) ต่อมาทางราชการได้แต่งตั้ง นายจงรักษ์ มณีสุข ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนศิลปหัตถกรรม (โรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณนครศรีธรรมราชเดิม) และแต่งตั้งให้นายคัมภีร์ รัตนโชติ ครูวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ จังหวัดสงขลา มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนการช่างนครศรีธรรมราช กิจการของโรงเรียนได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้ขยายหลักสูตรจนถึงขั้นอาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกช่างไม้และก่อสร้าง โดยการรับนักเรียนที่สำเร็จอาชีวศึกษาชั้นปลายเข้าศึกษาต่ออีก ๓ ปี และในปลายปีนั้นเองโรงเรียนได้สร้างอาคารเรียน ๒ ชั้น ๑ หลัง สร้างโดยฝีมือนักเรียนเองทั้งหมด ส่วนแผนกช่างตัดผมก็ได้ยุบเลิกไปเพราะไม่มีคนสอน วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๓ โรงเรียนได้เข้าอยู่ในโครงการผลิตช่างฝีมือขององค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ (ส.ป.อ.) ทำให้โรงเรียนการช่างนครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนช่างไม้กลายมาเป็นโรงเรียนช่างอุตสาหกรรม นายอัมพวัน พันธุ์พิทย์แพทย์ ได้กล่าวถึงโรงเรียนนี้ในตอนนั้นไว้ว่า

“กรมอาชีวศึกษา” จึงได้เรียกครูช่างไม้เข้ารับการอบรมที่ ศูนย์ฝึกอบรมครูของ ส.ป.อ. ในกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา ๕ เดือน ครูสำเร็จการอบรมได้กลับมาทำการปรับปรุงโรงฝึกงานของโรงเรียน โดยทำการติดตั้งเครื่องมือเครื่องจักร ที่ได้รับมาใหม่ ตามโครงการปรับปรุงโรงเรียน คือ นายเลียบ ช่วยเรียง แผนกช่างเครื่องยนต์ นายบุญ ธรรมศิริ แผนกช่างเชื่อมและโลหะแผ่น นายพิเชฐ แซ่ลู่ แผนกช่างกลโรงงาน นายอัมพวัน พันธุ์พิทย์แพทย์ แผนกช่างก่อสร้าง นายแคล้ว ห่อแก้ว ผู้ติดตั้งไฟฟ้าทั้งหมด นายนิมล สนธิพร ได้รับการอบรมวิชาการแนะแนวและครูอาจารย์จำนวนมากได้รับการอบรมในวิชาที่จะต้องทำการสอน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โรงเรียนได้เริ่มเปิดทำการสอนตามโครงการเป็นครั้งแรก โดยจัดแบ่งเป็น ๔ แผนก คือ แผนกช่างก่อสร้าง แผนกช่างเครื่องยนต์ดีเซล แผนกช่างกลโรงงาน และแผนกช่างเชื่อมโลหะแผ่น ทุกแผนกเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูง โดยรับนักเรียนที่สำเร็จอาชีวศึกษาชั้นปลายหรือมัธยมปีที่ ๖ มาเข้าเรียนต่อตามหลักสูตร ๓ ปี ในปีแรกรับนักเรียนแผนกละ ๒๕ คน ส่วนอาชีวศึกษาชั้นปลายยังคงทำการสอนมาจนถึงปีการศึกษา ๒๕๑๐ จึงได้เลิกทำการสอน เมื่อโรงเรียนได้รับความช่วยเหลือจากองค์การ ส.ป.อ. ในด้านผู้เชี่ยวชาญเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ ฯลฯ จึงทำให้การบริหารโรงเรียนสะดวกขึ้น และโรงเรียนก้าวหน้าไปมาก นอกจากนั้นแล้วอาชีวศึกษาได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยเพิ่มวิชาสามัญในหลักสูตรมากขึ้นและยังเปิดโอกาสให้ชั้น ม.ศ. ๕ สมัครเข้าสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญแผนกทั่วไปของกรมวิสามัญ (ขณะนั้น) อีกด้วย

   ต่อมาทางโรงเรียนได้พัฒนามากขึ้น มีการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ในปีพ.ศ. ๒๕๑๕ ได้เปิดสอนแผนกช่างไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก ๑ แผนก และในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เปิดสอนระดับ ปวส. แผนกช่างก่อสร้าง ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เปิดสอนระดับ ปวส.ช่างกลโลหะ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรวมโรงเรียนอาชีวศึกษาของรัฐในจังหวัดนครศรีธรรมราช ๓ โรง คือ โรงเรียนการช่างนครศรีธรรมราช โรงเรียนอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช และโรงเรียนศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เข้าเป็นสถานศึกษาเดียวกันใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช” โดยให้โรงเรียนการช่างนครศรีธรรมราชเป็นวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ๑ โรงเรียนอาชีวศึกษานครศรีธรรมราชเป็นวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ๒ และโรงเรียนศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชเป็นวิทยาลัยฯวิทยาเขต ๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๒ กระทรวงศึกษาธิการได้แยกวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ๑ ออกไปตั้งเป็น “วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

   วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช เป็นส่วนราชการระดับหน่วยงานอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจหลักในการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งในระดับกึ่งฝีมือ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิคและระดับเทคโนโลยี ในสาขาวิชาชีพช่างอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพประกอบอาชีพได้และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

   วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 มีพื้นที่ 38 ไร่ 1 งาน ในนามโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงและยกฐานะเป็นวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2519 วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 263 ถนนราชดำเนิน ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0 7535 6062 โทรสาร 0 7534 2268

ปรัชญา

ฝีมือเป็นเยี่ยม  วิชาการเป็นเลิศ  คุณธรรมสูงยิ่ง

วิสัยทัศน์

“ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราชเป็นองค์กรผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสู่สากลอย่างยั่งยืน ”

พันธกิจ

1. ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
2. พัฒนางานวิจัย สร้างนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์
3. บริการวิชาการและวิชาชีพสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
4. ปลูกฝังจิตสำนึกและเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
5. พัฒนาระบบบริหารจัดการที่มีคุณภาพตามหลักธรรมาภิบาล

อัตลักษณ์

“ทักษะดี มีคุณธรรม”

ครูมีคุณธรรมอัตลักษณ์คือ

“รับผิดชอบ มีวินัย พอเพียง”

เอกลักษณ์

“บริการวิชาชีพ”

จุดเน้น

1. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. ส่งเสริมการสร้างและพัฒนานวัตกรรม
3.เสริมสร้างลักษณะนิสัยผู้เรียนให้บริการวิชาชีพแก่สังคมและชุมชน

จุดเด่น

“เสริมสร้างลักษณะนิสัยผู้เรียนให้บริการวิชาชีพแก่สังคมและชุมชน”

ประเด็นยุทธศาสตร์

1. พัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมีมาตรฐานตามมาตรฐานวิชาชีพ
2. พัฒนาให้ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ครบทุกด้าน
3. ส่งเสริมให้ครูและผู้เรียนจัดทำผลงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์ตลอดจนมีการเผยแพร่
4. เสริมสร้างศักยภาพงานบริการวิชาการและวิชาชีพ ให้เป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการ และเป็นที่พึ่งของชุมชน
5. ปลูกฝังจิตสำนึกและเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก
6. ปลูกฝังจิตสำนึกด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
7. พัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาเชิงบูรณาการด้วยหลักธรรมาภิบาล และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
8. พัฒนาคุณภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีศักยภาพตามเกณฑ์การปฏิบัติงาน

เป้าประสงค์ (Goals)

1. ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณวุฒิวิชาชีพ ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ ชุมชน และสังคม
2. ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามข้อกำหนดของหลักสูตร
3. ผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้รับการยอมรับในระดับชาติ
4. ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชุมชน
5. งานบริการวิชาการสามารถบูรณาการกับการเรียนการสอนและการวิจัยได้
6. เป็นศูนย์สร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพสอดคล้องกับบริบท หรือวิถีชุมชน และสังคม
7. บุคลากรและผู้เรียนตระหนักถึงความรักชาติ เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
8. จัดทำรายวิชาเศรษฐกิจพอเพียงลงในหลักสูตรและบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกรายวิชาที่ทำการเปิดสอน
9. บุคลากรและผู้เรียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
10. ระบบการบริหารองค์กรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลง
11. การบริหารงานสถานศึกษาโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นที่ยอมรับของบุคลากร
12. เป็นสถานศึกษาที่มุ่งพัฒนาไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
13. ครู และบุคลากรทางการศึกษามีขวัญและกำลังใจ อุทิศตนในการปฏิบัติงาน
14. ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้รับการเพิ่มพูนความรู้/ประสบการณ์ การพัฒนาให้มีคุณวุฒิและ ตำแหน่งทางวิชาการ